วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (4)

นอกจากการผ่าตัดส่องกล้องที่ประเทศญี่ปุ่น ได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นเป็นที่แรกของโลกแล้ว การรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่บ่งบอกถึงความคิดอันเลื่องลือของแพทย์ญี่ปุ่น

ในความเป็นจริงปัญหาอันเกิดจากผลข้างเคียงต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว นับตั้งแต่ผมร่วง มีร่างกายซูบผอม น้ำหนักลด อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจจะมีอาการถึงขั้น ความจำเสื่อม ภาวะโลหิตเป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยมะเร็งแทบทุกคนที่ได้รับเคมีบำบัดต่างหวาดกลัวทั้งสิ้น ยาที่ทำการรักษานั้นก็ต้องใช้ให้ได้เหมาะกับเซลล์มะเร็งเพื่อป้องกันการลุกลาม แต่ว่าอวัยวะส่วนอื่นก็จะต้องได้รับการดูดซับสารเคมีเหล่านี้เข้าไปในร่างกายด้วย ดังนั้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่ทำเคมีบำบัดนั้นก็มักจะได้รับความทุกข์ทรมานร่างกาย มากกว่าก้อนมะเร็งเสียอีก

นายแพทย์ชินอิจิ โฮริ (Dr. Shinichi Hori) (แหล่งที่มาของภาพ: http://smpy.jp)

นับตั้งปี 1992 ที่ นายแพทย์ ชินอิจิ โฮริ (Dr. Shinichi Hori) แห่งสถาบันการแพทย์ริงคุ ในจังหวัดโอซากา ได้ประดิษฐ์ตัวดูดซับความซึมซับพิเศษ (Superabsorbent polymer microspheres (SAP-MS)) และประยุกต์การรักษาด้วยวิธีการส่งตัวดูดซับยาเคมีบำบัดผ่านสายสวนเส้นเลือด (Endovascular Internventional Therapy) การขจัดความหวาดกลัวของผู้ป่วยมะเร็งก็เริ่มมีความหวังขึ้น นายแพทย์โฮริ ได้สร้างสถาบันการแพทย์ Gate Tower Institute for Image Guided Therapy ขึ้นที่จังหวัดโอซากา และอุทิศตนนับแต่นั้นเพื่อการพัฒนาเทคนิคการรักษาผ่านสายสวนเส้นเลือดนี้ จนกระทั่งปัจจุบันท่านได้ทำการรักษาทั้งคนไข้ญี่ปุ่นและคนไข้ต่างชาติมากกว่า 7000 คน และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญฝึกฝนแพทย์จากหลากหลายประเทศเพื่อการรักษาด้วยเทคนิคนี้ การรักษาดังกล่าวก็สามารถนำไปใช้รักษากับโรคมะเร็งจากหลายๆอวัยวะรวมถึง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และการแพร่กระจายไปยังกระดูก

ตัวดูดซับความซึมซับพิเศษ (Superabsorbent polymer microspheres (SAP-MS)  ที่นายแพทย์โฮริเป็นผู้คิดค้นขึ้น (แหล่งที่มาของภาพ: http://www.igct.jp)

เทคนิคการรักษาด้วย SAP-MS นี้ ใช้ได้ดีอย่างมากในคนไข้มะเร็งที่ผ่านการรักษาขั้นต้นมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไข้มะเร็งเต้านมที่ผ่านการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือรังสีรักษา และเกิดการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จากสถิติของสถาบัน Gate Tower ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้นมีโอกาส จะเกิดการมะเร็งชนิดแพร่กระจายไปยังตับได้ถึง 15 % ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาหลังการผ่าตัดหรือการป้องกันหลังได้รับรังสีรักษา การรักษาด้วยสายสวนนี้น่าจะเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานกับผลข้างเคียง จากการรักษาของนายแพทย์ โฮริ ผู้ป่วยเองก็มีความสะดวกสบายที่ไม่ต้องได้รับยาในปริมาณสูงทั่วร่างกาย เนื่องจากการรักษาดังกล่าวนั้นลดปริมาณยาได้ถึง 9 เท่า

Microcatheter สายสวนหลอดเลือดขนาดจิ๋วที่ใช้สอดผ่านเส้นเลือดไปยังก้อนมะเร็งเพื่อลำเลียงตัวดูดซับยาเคมีบำบัด (SAP-MS) ไปอุดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง (แหล่งที่มาของภาพ: http://www.igtc.jp)


ในขณะที่วิทยาการด้านการรักษาด้วยสายสวนมีการเดินก้าวไปข้างหน้า การรักษาด้วยยาประเภทต่างๆเช่น Biologic Drug ที่เน้นการต่อต้านเซลล์มะเร็งด้วยสารเคมีในร่างกายผู้ป่วยผ่านการกระตุ้นด้วยยาบางประเภท ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น