วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งที่ประเทศญี่ปุ่น(2)

การรักษามะเร็งโดยทั่วไปในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย การรักษาสามแบบ ซึ่งจะมีการใช้ร่วมกันหรือแยกกัน แล้วแต่กรณีของผู้ป่วยและพยาธิสภาพของโรค ได้แก่
      • การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment)
      • การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy Treatment)
      • การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy Treatment)
เป็นที่แน่นอนว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นถือเป็น Gold Standard สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเพราะสามารถมองเห็นได้ถึงพยาธิสภาพและสามารถจัดการได้ด้วยการตัดชิ้นเนื้อที่มีโอกาสแพร่กระจายออกจนครบ แต่ในหลายๆโอกาส พยาธิสภาพ และอายุของผู้ป่วยอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบเปิดได้ การผ่าตัดมะเร็งแบบปิด (Less-invasive Surgery) จึงมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาเทคนิค ในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เป็นที่แรกๆในโลกอีกด้วย นอกจากนี้ การผ่าตัดผ่านสายสวนหรือการส่องกล้องสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci ที่ โรงพยาบาล มัทซึนามิ ประเทศญี่ปุ่น (Courtesy Matsunami Hospital Japan)
จากการสนทนากับ Mr. Yoshiyuki Kobori หัวหน้าสภาส่งเสริมอนุภาคหนักบำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อเมษายน 2554  ท่านกล่าวถึงองค์ประกอบของเครื่อง da Vinci ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเราแยกองค์ประกอบของ da Vinci ออกมา เราจะพบว่า ส่วนสำคัญๆ ของเครื่องและระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์สามมิติ ที่ใช้มองภาพขณะผ่าตัด หรือฟันเฟือง เลนส์ และ ด้ามคีบ ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างและออกแบบทั้งสิ้น เพียงแต่การประกอบตัวเครื่องนั้น จัดทำที่บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากการสร้างและจัดทำนั้นญี่ปุ่นเป็นตัวแปรในการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ แพทย์ญี่ปุ่นร่วมกับวิศวกร จึงมีความชำนาญในการใช้เครื่องมืออย่างมาก ซึ่งเหตุนี้ทำให้ da Vinci เป็นระบบที่ได้ถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆทางการแพทย์ รวมถึง ด้านศัลยศาสตร์ทรวงอก ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงด้านสูตินรีเวชศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอีกจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น