วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (7)

การรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาด้วยรังสีโฟตอนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในรอบปีที่ผ่านมากลับพบเจอปัญหาอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งส่งผลให้คนไข้หลายรายได้รับผลกระทบ จนกระทั่งเกิดคดีความและการสอบสวนขึ้น แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์เดียวกันในแต่ละประเทศแต่การดูแลและการซ่อมบำรุงของอุปกรณ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าข้อผิดพลาดของการดูแลซ่อมบำรุงและตรวจสอบให้ได้มาตรฐานหมายถึง ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บรรดาสถาบันทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นตระหนักดีถึงความสำคัญข้อนี้ จึงมีมาตรการเข้มงวดอย่างมากในการทำการรักษาผู้ป่วย ดังที่เคยได้กล่าวแล้วว่า แนวคิดของทีมสาธารณสุขของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นนั้น มุ่งเน้นการรักษาเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Quality of Life) การรักษานั้นจึงต้องมีการวางแผนอย่างเฉียบขาดเพื่อให้ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ไม่มากก็น้อย

จากรายงานของ International Herald Tribune ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2010-2011 ที่ผ่านมาพบว่า มีการรายงานการรักษาที่ผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับรังสีรักษาในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก (ตัวอย่างเช่น บทความ As Technology Surges, Radiation Safeguards Lag โดย New York Times) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งมีผลข้างเคียงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เซลล์ที่เสียสภาพเนื่องจากการได้รับรังสีเอกซ์ และแกมมา มากเกินไป นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบจากการทำรังสีวินิจฉัย (Brain CT Scan) ดังเช่นรูปด้านล่าง

ผลข้างเคียงจากการใช้รังสีเกินขนาดที่ควรจะได้รับ ในประเทศสหรัฐอเมริกา (แหล่งที่มาของภาพ New York Times)

การรักษาด้วยรังสีโฟตอนยังคงเป็นที่แพร่หลายในหมู่แพทย์รังสีรักษา ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมหากมีการควบคุมด้วยนักฟิสิกส์การแพทย์ นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ และวิศวกรการแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยนั้นกำลังมีการพัฒนาสาขาดังกล่าวให้ชำนาญการและเชี่ยวชาญในการตอบสนองการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เมื่อกล่าวถึงปริมาณของบุคลากรทางด้านรังสีรักษา กลับพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีทีมวิศวกรการแพทย์เป็นจำนวนมาก แทบจะเรียกได้ว่ามากที่สุดในทวีปเอเชียและยุโรปได้ วิศวกรเหล่านี้จะทำหน้าที่คอยทซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รังสีที่ใช้ในการรักษาออกมาในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นจะทำการซ่อมแซมและดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการใช้ทุกวัน

เมื่อตรวจสอบจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักที่ผู้ป่วยต้องได้รับผลกระทบจากรังสีที่เกินในหลายรัฐทั่วทั้งประเทศนั้น เป็นเพราะปริมาณวิศวกรการแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์ที่ความชำนาญน้อยและไม่พิถีพิถันในการตรวจสอบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์นั้นเป็นอุปกรณ์ที่อันตรายและต้องห้ามแต่อย่างใด แต่ดังที่ได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วว่าการใช้รังสีรักษาด้วยรังสีโฟตอนนั้น แม้ว่าจะเป็นนวัตกรรมล่าสุดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านแต่ปริมาณรังสีที่ได้รับนั้นเข้มข้นมาก ซึ่งส่งผลต่อเซลล์ดีที่อยู่ตั้งแต่ชั้นผิวหนังลงไปได้

การนำเอาอนุภาคบำบัดมาใช้แทนการรักษาด้วยรังสีโฟตอนจึงเป็นทางเลือกในการรับรังสีที่น้อยกว่า และมีผลการรักษาที่ดีกว่า ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในประเทศญี่ปุ่นและนานาประเทศจำนวนมากและจะได้นำมาเล่าในครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น