วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (6)

ในครั้งที่แล้วที่ได้เล่าเรื่องราวว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการแพทย์ขั้นสูง เกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์บำบัดสำหรับโรคมะเร็งต่างๆ ไม่เพียงแค่นั้น การรักษาด้วยวิธีอื่นๆรวมถึงวิธีการทางรังสีรักษาของญี่ปุ่นนั้นยังเป็นที่กล่าวขานในวงการแพทย์ด้วย

การรักษาทางรังสีรักษาโดยมาตรฐานทั่วไปที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นการรักษาด้วยรังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธี IMRT, IMPT, Gamma Knife, และรวมถึง Cyber Knife เนื่องจากการรักษาดังกล่าวเป็นการรักษาด้วยรังสีโฟตอน รังสีดังกล่าวนั้นต้องใช้พลังงานสูงเพื่อเข้าถึงส่วนของเซลล์มะเร็งที่ค่อนข้างลึก และมีผลต่อเซลล์ดีข้างเคียงค่อนข้างมาก เนื่องจากการฉายรังสีความเข้มสูงสู่ส่วนอวัยวะต่างๆของร่างกายต้องผ่านเซลล์ดีรายรอบและเมื่อโดนรังสีก็จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรม อันเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์ที่อาจก่อมะเร็งหรือการหยุดกระบวนการตามปกติของเซลล์นั้นๆได้ ดังเห็นได้จากผลข้างเคียงของการรักษาด้วยรังสีรักษา อาทิ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง อาการบวมแดงที่ผิวหนัง หรือผื่น ผมร่วง อ่อนเพลีย หรือภูมิต้านทานลดลง  อย่างไรก็ดีการรักษาดังกล่าว ก็เป็นการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย และอาเซียน ซึ่งให้ผลที่ค่อนข้างน่าพอใจไม่น้อย

Cyber Knife Robotic System (Funuc) (แหล่งที่มาของภาพ: www.robonable.jp)

การรักษาด้วย Cyber knife ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นโดย ศาสตราจารย์ John A. Adler ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทางด้านประสาทศัลยกรรมและรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ Cyber Knife Robotic Systemตัวแรกนั้นใช้ระบบจากญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Funuc และภายหลังทางเยอรมันนี ได้นำไปประยุกต์เพิ่มขึ้น การรักษาด้วย Cyber Knife Robotic System เองก็มีข้อดีคือ เป็น การรักษาแบบจุดจำเพาะซึ่งลดความเสี่ยงในการฉายรังสี แบบกระจายครอบคลุม ซึ่ง ทำให้ เซลล์ดีโดนทำลายน้อยลงแต่ก็ยังถูกทำลายอยู่ดี

ทำไมการใช้โฟตอนถึงทำลายเซลล์ดี




การฉายแสงแบบปรับความเข้มสามมิติ IMRT ในมะเร็งต่อมลูกหมาก (แหล่งที่มาของภาพ http://www.rmgmed.com)



รังสีทุกชนิดย่อมมีผลเสียต่อเซลล์ เนื่องจากการรบกวนสภาวะปกติของรหัสพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ที่เรารู้จักกัน การฉายรังสีที่มีความเข้มสูงมากก็เนื่องมาจากต้องการจะรบกวนสภาวะปกติของเซลล์มะเร็งเพื่อให้เกิดการเขย่าเส้นรหัสพันธุกรรมให้ขาดออกและเกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ ทำให้เซลล์มะเร็งนั้นตายในลำดับต่อมา อย่างไรก็ดีการฉายรังสีโฟตอน (รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา รวมถึงอนุพันธ์ของรังสีทั้งสองชนิด) เพื่อการรักษามะเร็งในอวัยวะที่อยู่ไม่ลึกมาก นั้นเป็นการรักษาที่เหมาะสม เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งหนังศีรษะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือในส่วนที่อยู่ไม่ลึกเกินไป แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่อยู่ในอวัยวะที่ลึกหรือเป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่มีการขยับอยู่ตลอดเวลานั้น การรักษาด้วยโฟตอนจะมีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย การรักษาทางรังสีรักษาจึงมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมสูงสุดสำหรับรังสีโฟตอนในการรักษา อันได้แก่ การเพิ่มการฉายแสงด้วยการปรับความเข้ม หรือที่รู้จักกันในนาม IMRT รวมไปถึงการฉายแสงแบบปรับความเข้มพร้อมการฉายภาพรังสี หรือ IGRT ซึ่งใช้ในการพัฒนาการรักษาสำหรับอวัยวะที่มีการขยับอยู่ตลอด อย่างไรก็ดี ปริมาณของรังสีที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับก็จะต้องผ่านบริเวณที่มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งความเสียหายต่อเซลล์ดีนั้นก็ขึ้นกับความชำนาญและปริมาณการรักษานั่นเอง

การรักษาทางรังสีรักษาด้วย IMRT, IGRT, Gamma Knife, Cyber Knife Robotic System นั้นในประเทศญี่ปุ่นก็มีใช้อย่างกว้างขวางเหมือนสากลเช่นกัน แต่เนื่องจากการรักษาด้วยรังสีโฟตอนนั้นส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้ค่อนข้างง่าย จึงได้พัฒนาการแพทย์ขั้นสูงทางด้านรังสีรักษาและจะได้นำมาเล่าให้ฟังต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น