วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (8)


ในคราวที่แล้วได้ทิ้งท้ายด้วยคำว่าอนุภาคบำบัดไว้ให้ติดตาม แต่คงมีหลายๆท่านสงสัยว่าอนุภาคบำบัดคืออะไร เป็นผงหรือเป็นเม็ด หรือเป็นอย่างไร วันนี้ก็จะได้ทำความเข้าใจถึง อนุภาคบำบัดด้วยกัน

การรักษาด้วยอนุภาคบำบัด ที่ประเทศญี่ปุ่น (แหล่งที่มาของภาพ www. saitotakeo.main.jp)

อนุภาค หมายถึงสิ่งเล็กๆ ซึ่งในทางการแพทย์จะหมายไปถึงอนุภาคนิวเคลียร์ อะตอม หรือพลังงานนิวเคลียร์ชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงการบำบัดด้วยอนุภาค หรือภาษาไทยอย่างง่ายเรียกว่า อนุภาคบำบัดนั้น ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Particle Therapy ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายมากในประเทศญี่ปุ่น คือ การรักษามะเร็งด้วยวิธีการทางรังสีรักษา โดยใช้นิวเคลียสพลังงานสูงของธาตุมวลหนักต่างๆ ได้แก่ โปรตรอนจากไฮโดรเจน คาร์บอน อาร์กอน ฯลฯ ซึ่งการทำให้เกิดพลังงานสูงนั้นก็เกิดจากการเหนี่ยวนำอนุภาคด้วยพลังแม่เหล็กแยกเอาประจุบวกและลบเพื่อให้ได้ประจุที่ต้องการหรือสร้างอนุภาคที่เหมาะสม แล้วนำไปเร่งความเร็วด้วยเครื่องเร่งพลังงานซินโครตรอน เพื่อให้ความเร็วของอนุภาคนั้นรวดเร็วเท่ากับความเร็วแสง และรวมประจุเข้าด้วยกันเป็นลำแสงสำหรับใช้ในการรักษา เมื่อปล่อยลำแสงอนุภาคนั้นเข้าสู่ร่างกายก็จะใช้พลังงานไม่มาก

รังสีโฟตอน (แกมม่าและเอกซ์) เป็นคลื่นขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับ โปรตรอน และคาร์บอนที่ใช้ใน อนุภาคบำบัด (แหล่งที่มาของภาพ National Institute of Radiological Sciences, Japan)


นอกจากนี้อนุภาคบำบัดยังสามารถเข้าทะลุถึงส่วนลึกของร่างกายได้โดยที่เซลล์ดีที่ลำแสงนั้นผ่านเข้าไปจะไม่ถูกทำลาย สาเหตุก็เนื่องจากลำแสงอนุภาคนั้นจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในความลึกและตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างดี ในปริมาณรังสีที่ไม่สูงเกินไป และสามารถกำหนดระยะที่ต้องการให้ทำปฏิกริยา ได้ ณ ความลึกของร่างกายที่เหมาะสม


Bragg Peak แสดงปริมาณความเข้มข้นของรังสีที่่ใช้ในการรักษามะเร็ง ที่ตำแหน่ง 15 ซม. ใต้ชั้นผิวหนัง  การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้นจะใช้ปริมาณต่ำ (เพียงความเข้ม 15-20 %) เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยรังสีเอกซ์และแกมม่า (แหล่งที่มาของภาพ National Institute of Radiological Science, Japan)

ความแตกต่างของอนุภาคบำบัดและกลุ่มรังสีโฟตอนนั้น ก็คือ รังสีโฟตอน ไม่ว่าจะเป็นรังสีแกมม่าหรือรังสีเอกซ์ ต่างมีรูปเป็นคลื่นพลังงานสูงและมีขนาดเล็ก ซึ่งมีความสามารถทะลุทะลวงร่างกายได้ แต่ ปริมาณของรังสีจะลดลง เมื่อผ่านชั้นผิวหนังลงไป ส่งผลให้การรักษามะเร็งด้วยรังสีทั้งสองนี้ เป็นการรักษาที่ต้องใช้ความเข้มรังสี สูงมาก  ผลข้างเคียงก็สามารถปรากฏได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นไข้ หรืออาการแสบร้อน ฯลฯ  แต่การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้น เป็นอนุภาคพลังงานสูงที่ไม่ได้เป็นคลื่น และสามารถทะลวงร่างกายได้โดยไม่ต้องใช้ปริมาณรังสีที่เข้มข้น แต่จะอาศัยการเหนี่ยวนำการกระตุ้นรังสีด้วยสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะทำให้รังสีที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายนั้นก่อผลกระทบกับเซลล์ปกติน้อยมากถึงมากที่สุด ขณะที่เซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้องอกนั้น จะถูกทำลายอย่างตรงเป้าหมายที่สุด

ห้องฉายอนุภาคบำบัด ที่ศูนย์มะเร็ง MD Anderson ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์อนุภาคบำบัด (โปรตรอน)ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใช้เครื่องผลิตโปรตรอนคุณภาพ ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมีการฝึกฝนแพทย์และเจ้าหน้าที่โดยตรงที่ญี่ปุ่นอีกด้วย (แหล่งที่มาของภาพ Sankeibiz.jp)


อนุภาคบำบัดนั้นก็ยังแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก อันได้แก่ การรักษาด้วยอนุภาคโปรตรอน (Proton Beam Therapy) และ การรักษาด้วยอนุภาคไอออนหนัก (Heavy-ion Beam Therapy) อนุภาคโปรตรอนนี้จะได้มากจากการแยกไฮโดรเจนอิออน ส่วน ไอออนหนักนั้น ที่ประเทศญี่ปุ่น จะนำมาแยกออกจากธาตุ คาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของส่วนต่างๆในร่างกาย ดังนั้นความสามารถในการเข้าแทรกซึมเซลล์ต่างๆของคาร์บอนจึงเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่า ทำให้ระยะเวลาการรักษาด้วยคาร์บอนนั้นสามารถลดทอนเวลาลงได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้นแม้ว่าจะมีแพร่หลายแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรปตะวันออก เช่น เยอรมันนี เบลเยี่ยม ฯลฯ ในเอเซียนี้การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดก็มีในหลายประเทศเช่นกัน ตัวอย่างเช่น จีน เกาหลี รัสเซีย ซึ่งล้วนแต่เพิ่งเริ่มต้นการสร้างโรงงานและการรักษาเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้นำลำดับที่หนึ่งของเอเชียและโลกที่มีการศึกษาค้นคว้าและรักษามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และเป็นประเทศที่หนึ่งในโลกที่มีจำนวนโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ขั้นสูงที่ให้การรักษาทั้งโปรตอนบำบัดและคาร์บอนบำบัดเกือบ 20 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น
  • National Institute of Radiological Sciences, Chiba
  • Proton Medical Research Center University of Tsukuba, Ibaraki
  • National Cancer Center Hospital East, Chiba
  • Hyogo Ion Beam Medical Center, Hyogo
  • Shizuoka Cancer Center, Shizuoka
  • Medipolis Proton Therapy & Research Center, Kagoshima
  • Gunma University Heavy Ion Medical Center, Gunma
  • Fukui Proton Therapy Center, Fukui
  • Southern Tohoku Proton Therapy Center, Tohoku
  • Saga Heavy Ion Medical Accelerator in Tosu, Saga


ปัจจุบันการรักษาดังกล่าวได้เปิดให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ต้องการรักษานั้นสามารถรับการรักษาได้ ผ่านช่องทางของบริษัทที่จัดทำบริการประสานงานทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งบริษัทที่มีเครือข่ายการแพทย์ทั่วโลกอย่าง Emergency Assistance Japan (Link) ก็ได้รับความไว้วางใจ ก็เป็นความโชคดีที่มีสำนักงานอยู่ในไทย  สิงคโปร์ บังคลาเทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกที่ต้องการรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้น สามารถไปรักษาที่ญี่ปุ่นได้

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (7)

การรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาด้วยรังสีโฟตอนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในรอบปีที่ผ่านมากลับพบเจอปัญหาอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งส่งผลให้คนไข้หลายรายได้รับผลกระทบ จนกระทั่งเกิดคดีความและการสอบสวนขึ้น แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์เดียวกันในแต่ละประเทศแต่การดูแลและการซ่อมบำรุงของอุปกรณ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าข้อผิดพลาดของการดูแลซ่อมบำรุงและตรวจสอบให้ได้มาตรฐานหมายถึง ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บรรดาสถาบันทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นตระหนักดีถึงความสำคัญข้อนี้ จึงมีมาตรการเข้มงวดอย่างมากในการทำการรักษาผู้ป่วย ดังที่เคยได้กล่าวแล้วว่า แนวคิดของทีมสาธารณสุขของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นนั้น มุ่งเน้นการรักษาเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Quality of Life) การรักษานั้นจึงต้องมีการวางแผนอย่างเฉียบขาดเพื่อให้ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ไม่มากก็น้อย

จากรายงานของ International Herald Tribune ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2010-2011 ที่ผ่านมาพบว่า มีการรายงานการรักษาที่ผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับรังสีรักษาในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก (ตัวอย่างเช่น บทความ As Technology Surges, Radiation Safeguards Lag โดย New York Times) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งมีผลข้างเคียงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เซลล์ที่เสียสภาพเนื่องจากการได้รับรังสีเอกซ์ และแกมมา มากเกินไป นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบจากการทำรังสีวินิจฉัย (Brain CT Scan) ดังเช่นรูปด้านล่าง

ผลข้างเคียงจากการใช้รังสีเกินขนาดที่ควรจะได้รับ ในประเทศสหรัฐอเมริกา (แหล่งที่มาของภาพ New York Times)

การรักษาด้วยรังสีโฟตอนยังคงเป็นที่แพร่หลายในหมู่แพทย์รังสีรักษา ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมหากมีการควบคุมด้วยนักฟิสิกส์การแพทย์ นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ และวิศวกรการแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยนั้นกำลังมีการพัฒนาสาขาดังกล่าวให้ชำนาญการและเชี่ยวชาญในการตอบสนองการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เมื่อกล่าวถึงปริมาณของบุคลากรทางด้านรังสีรักษา กลับพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีทีมวิศวกรการแพทย์เป็นจำนวนมาก แทบจะเรียกได้ว่ามากที่สุดในทวีปเอเชียและยุโรปได้ วิศวกรเหล่านี้จะทำหน้าที่คอยทซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รังสีที่ใช้ในการรักษาออกมาในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นจะทำการซ่อมแซมและดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการใช้ทุกวัน

เมื่อตรวจสอบจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักที่ผู้ป่วยต้องได้รับผลกระทบจากรังสีที่เกินในหลายรัฐทั่วทั้งประเทศนั้น เป็นเพราะปริมาณวิศวกรการแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์ที่ความชำนาญน้อยและไม่พิถีพิถันในการตรวจสอบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์นั้นเป็นอุปกรณ์ที่อันตรายและต้องห้ามแต่อย่างใด แต่ดังที่ได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วว่าการใช้รังสีรักษาด้วยรังสีโฟตอนนั้น แม้ว่าจะเป็นนวัตกรรมล่าสุดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านแต่ปริมาณรังสีที่ได้รับนั้นเข้มข้นมาก ซึ่งส่งผลต่อเซลล์ดีที่อยู่ตั้งแต่ชั้นผิวหนังลงไปได้

การนำเอาอนุภาคบำบัดมาใช้แทนการรักษาด้วยรังสีโฟตอนจึงเป็นทางเลือกในการรับรังสีที่น้อยกว่า และมีผลการรักษาที่ดีกว่า ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในประเทศญี่ปุ่นและนานาประเทศจำนวนมากและจะได้นำมาเล่าในครั้งต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (6)

ในครั้งที่แล้วที่ได้เล่าเรื่องราวว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการแพทย์ขั้นสูง เกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์บำบัดสำหรับโรคมะเร็งต่างๆ ไม่เพียงแค่นั้น การรักษาด้วยวิธีอื่นๆรวมถึงวิธีการทางรังสีรักษาของญี่ปุ่นนั้นยังเป็นที่กล่าวขานในวงการแพทย์ด้วย

การรักษาทางรังสีรักษาโดยมาตรฐานทั่วไปที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นการรักษาด้วยรังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธี IMRT, IMPT, Gamma Knife, และรวมถึง Cyber Knife เนื่องจากการรักษาดังกล่าวเป็นการรักษาด้วยรังสีโฟตอน รังสีดังกล่าวนั้นต้องใช้พลังงานสูงเพื่อเข้าถึงส่วนของเซลล์มะเร็งที่ค่อนข้างลึก และมีผลต่อเซลล์ดีข้างเคียงค่อนข้างมาก เนื่องจากการฉายรังสีความเข้มสูงสู่ส่วนอวัยวะต่างๆของร่างกายต้องผ่านเซลล์ดีรายรอบและเมื่อโดนรังสีก็จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรม อันเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์ที่อาจก่อมะเร็งหรือการหยุดกระบวนการตามปกติของเซลล์นั้นๆได้ ดังเห็นได้จากผลข้างเคียงของการรักษาด้วยรังสีรักษา อาทิ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง อาการบวมแดงที่ผิวหนัง หรือผื่น ผมร่วง อ่อนเพลีย หรือภูมิต้านทานลดลง  อย่างไรก็ดีการรักษาดังกล่าว ก็เป็นการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย และอาเซียน ซึ่งให้ผลที่ค่อนข้างน่าพอใจไม่น้อย

Cyber Knife Robotic System (Funuc) (แหล่งที่มาของภาพ: www.robonable.jp)

การรักษาด้วย Cyber knife ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นโดย ศาสตราจารย์ John A. Adler ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทางด้านประสาทศัลยกรรมและรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ Cyber Knife Robotic Systemตัวแรกนั้นใช้ระบบจากญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Funuc และภายหลังทางเยอรมันนี ได้นำไปประยุกต์เพิ่มขึ้น การรักษาด้วย Cyber Knife Robotic System เองก็มีข้อดีคือ เป็น การรักษาแบบจุดจำเพาะซึ่งลดความเสี่ยงในการฉายรังสี แบบกระจายครอบคลุม ซึ่ง ทำให้ เซลล์ดีโดนทำลายน้อยลงแต่ก็ยังถูกทำลายอยู่ดี

ทำไมการใช้โฟตอนถึงทำลายเซลล์ดี




การฉายแสงแบบปรับความเข้มสามมิติ IMRT ในมะเร็งต่อมลูกหมาก (แหล่งที่มาของภาพ http://www.rmgmed.com)



รังสีทุกชนิดย่อมมีผลเสียต่อเซลล์ เนื่องจากการรบกวนสภาวะปกติของรหัสพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ที่เรารู้จักกัน การฉายรังสีที่มีความเข้มสูงมากก็เนื่องมาจากต้องการจะรบกวนสภาวะปกติของเซลล์มะเร็งเพื่อให้เกิดการเขย่าเส้นรหัสพันธุกรรมให้ขาดออกและเกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ ทำให้เซลล์มะเร็งนั้นตายในลำดับต่อมา อย่างไรก็ดีการฉายรังสีโฟตอน (รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา รวมถึงอนุพันธ์ของรังสีทั้งสองชนิด) เพื่อการรักษามะเร็งในอวัยวะที่อยู่ไม่ลึกมาก นั้นเป็นการรักษาที่เหมาะสม เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งหนังศีรษะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือในส่วนที่อยู่ไม่ลึกเกินไป แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่อยู่ในอวัยวะที่ลึกหรือเป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่มีการขยับอยู่ตลอดเวลานั้น การรักษาด้วยโฟตอนจะมีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย การรักษาทางรังสีรักษาจึงมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมสูงสุดสำหรับรังสีโฟตอนในการรักษา อันได้แก่ การเพิ่มการฉายแสงด้วยการปรับความเข้ม หรือที่รู้จักกันในนาม IMRT รวมไปถึงการฉายแสงแบบปรับความเข้มพร้อมการฉายภาพรังสี หรือ IGRT ซึ่งใช้ในการพัฒนาการรักษาสำหรับอวัยวะที่มีการขยับอยู่ตลอด อย่างไรก็ดี ปริมาณของรังสีที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับก็จะต้องผ่านบริเวณที่มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งความเสียหายต่อเซลล์ดีนั้นก็ขึ้นกับความชำนาญและปริมาณการรักษานั่นเอง

การรักษาทางรังสีรักษาด้วย IMRT, IGRT, Gamma Knife, Cyber Knife Robotic System นั้นในประเทศญี่ปุ่นก็มีใช้อย่างกว้างขวางเหมือนสากลเช่นกัน แต่เนื่องจากการรักษาด้วยรังสีโฟตอนนั้นส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้ค่อนข้างง่าย จึงได้พัฒนาการแพทย์ขั้นสูงทางด้านรังสีรักษาและจะได้นำมาเล่าให้ฟังต่อไป