วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (8)


ในคราวที่แล้วได้ทิ้งท้ายด้วยคำว่าอนุภาคบำบัดไว้ให้ติดตาม แต่คงมีหลายๆท่านสงสัยว่าอนุภาคบำบัดคืออะไร เป็นผงหรือเป็นเม็ด หรือเป็นอย่างไร วันนี้ก็จะได้ทำความเข้าใจถึง อนุภาคบำบัดด้วยกัน

การรักษาด้วยอนุภาคบำบัด ที่ประเทศญี่ปุ่น (แหล่งที่มาของภาพ www. saitotakeo.main.jp)

อนุภาค หมายถึงสิ่งเล็กๆ ซึ่งในทางการแพทย์จะหมายไปถึงอนุภาคนิวเคลียร์ อะตอม หรือพลังงานนิวเคลียร์ชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงการบำบัดด้วยอนุภาค หรือภาษาไทยอย่างง่ายเรียกว่า อนุภาคบำบัดนั้น ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Particle Therapy ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่แพร่หลายมากในประเทศญี่ปุ่น คือ การรักษามะเร็งด้วยวิธีการทางรังสีรักษา โดยใช้นิวเคลียสพลังงานสูงของธาตุมวลหนักต่างๆ ได้แก่ โปรตรอนจากไฮโดรเจน คาร์บอน อาร์กอน ฯลฯ ซึ่งการทำให้เกิดพลังงานสูงนั้นก็เกิดจากการเหนี่ยวนำอนุภาคด้วยพลังแม่เหล็กแยกเอาประจุบวกและลบเพื่อให้ได้ประจุที่ต้องการหรือสร้างอนุภาคที่เหมาะสม แล้วนำไปเร่งความเร็วด้วยเครื่องเร่งพลังงานซินโครตรอน เพื่อให้ความเร็วของอนุภาคนั้นรวดเร็วเท่ากับความเร็วแสง และรวมประจุเข้าด้วยกันเป็นลำแสงสำหรับใช้ในการรักษา เมื่อปล่อยลำแสงอนุภาคนั้นเข้าสู่ร่างกายก็จะใช้พลังงานไม่มาก

รังสีโฟตอน (แกมม่าและเอกซ์) เป็นคลื่นขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับ โปรตรอน และคาร์บอนที่ใช้ใน อนุภาคบำบัด (แหล่งที่มาของภาพ National Institute of Radiological Sciences, Japan)


นอกจากนี้อนุภาคบำบัดยังสามารถเข้าทะลุถึงส่วนลึกของร่างกายได้โดยที่เซลล์ดีที่ลำแสงนั้นผ่านเข้าไปจะไม่ถูกทำลาย สาเหตุก็เนื่องจากลำแสงอนุภาคนั้นจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในความลึกและตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างดี ในปริมาณรังสีที่ไม่สูงเกินไป และสามารถกำหนดระยะที่ต้องการให้ทำปฏิกริยา ได้ ณ ความลึกของร่างกายที่เหมาะสม


Bragg Peak แสดงปริมาณความเข้มข้นของรังสีที่่ใช้ในการรักษามะเร็ง ที่ตำแหน่ง 15 ซม. ใต้ชั้นผิวหนัง  การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้นจะใช้ปริมาณต่ำ (เพียงความเข้ม 15-20 %) เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยรังสีเอกซ์และแกมม่า (แหล่งที่มาของภาพ National Institute of Radiological Science, Japan)

ความแตกต่างของอนุภาคบำบัดและกลุ่มรังสีโฟตอนนั้น ก็คือ รังสีโฟตอน ไม่ว่าจะเป็นรังสีแกมม่าหรือรังสีเอกซ์ ต่างมีรูปเป็นคลื่นพลังงานสูงและมีขนาดเล็ก ซึ่งมีความสามารถทะลุทะลวงร่างกายได้ แต่ ปริมาณของรังสีจะลดลง เมื่อผ่านชั้นผิวหนังลงไป ส่งผลให้การรักษามะเร็งด้วยรังสีทั้งสองนี้ เป็นการรักษาที่ต้องใช้ความเข้มรังสี สูงมาก  ผลข้างเคียงก็สามารถปรากฏได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นไข้ หรืออาการแสบร้อน ฯลฯ  แต่การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้น เป็นอนุภาคพลังงานสูงที่ไม่ได้เป็นคลื่น และสามารถทะลวงร่างกายได้โดยไม่ต้องใช้ปริมาณรังสีที่เข้มข้น แต่จะอาศัยการเหนี่ยวนำการกระตุ้นรังสีด้วยสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะทำให้รังสีที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายนั้นก่อผลกระทบกับเซลล์ปกติน้อยมากถึงมากที่สุด ขณะที่เซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้องอกนั้น จะถูกทำลายอย่างตรงเป้าหมายที่สุด

ห้องฉายอนุภาคบำบัด ที่ศูนย์มะเร็ง MD Anderson ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์อนุภาคบำบัด (โปรตรอน)ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และใช้เครื่องผลิตโปรตรอนคุณภาพ ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมีการฝึกฝนแพทย์และเจ้าหน้าที่โดยตรงที่ญี่ปุ่นอีกด้วย (แหล่งที่มาของภาพ Sankeibiz.jp)


อนุภาคบำบัดนั้นก็ยังแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก อันได้แก่ การรักษาด้วยอนุภาคโปรตรอน (Proton Beam Therapy) และ การรักษาด้วยอนุภาคไอออนหนัก (Heavy-ion Beam Therapy) อนุภาคโปรตรอนนี้จะได้มากจากการแยกไฮโดรเจนอิออน ส่วน ไอออนหนักนั้น ที่ประเทศญี่ปุ่น จะนำมาแยกออกจากธาตุ คาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของส่วนต่างๆในร่างกาย ดังนั้นความสามารถในการเข้าแทรกซึมเซลล์ต่างๆของคาร์บอนจึงเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่า ทำให้ระยะเวลาการรักษาด้วยคาร์บอนนั้นสามารถลดทอนเวลาลงได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้นแม้ว่าจะมีแพร่หลายแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงยุโรปตะวันออก เช่น เยอรมันนี เบลเยี่ยม ฯลฯ ในเอเซียนี้การรักษาด้วยอนุภาคบำบัดก็มีในหลายประเทศเช่นกัน ตัวอย่างเช่น จีน เกาหลี รัสเซีย ซึ่งล้วนแต่เพิ่งเริ่มต้นการสร้างโรงงานและการรักษาเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้นำลำดับที่หนึ่งของเอเชียและโลกที่มีการศึกษาค้นคว้าและรักษามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และเป็นประเทศที่หนึ่งในโลกที่มีจำนวนโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ขั้นสูงที่ให้การรักษาทั้งโปรตอนบำบัดและคาร์บอนบำบัดเกือบ 20 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น
  • National Institute of Radiological Sciences, Chiba
  • Proton Medical Research Center University of Tsukuba, Ibaraki
  • National Cancer Center Hospital East, Chiba
  • Hyogo Ion Beam Medical Center, Hyogo
  • Shizuoka Cancer Center, Shizuoka
  • Medipolis Proton Therapy & Research Center, Kagoshima
  • Gunma University Heavy Ion Medical Center, Gunma
  • Fukui Proton Therapy Center, Fukui
  • Southern Tohoku Proton Therapy Center, Tohoku
  • Saga Heavy Ion Medical Accelerator in Tosu, Saga


ปัจจุบันการรักษาดังกล่าวได้เปิดให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ต้องการรักษานั้นสามารถรับการรักษาได้ ผ่านช่องทางของบริษัทที่จัดทำบริการประสานงานทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งบริษัทที่มีเครือข่ายการแพทย์ทั่วโลกอย่าง Emergency Assistance Japan (Link) ก็ได้รับความไว้วางใจ ก็เป็นความโชคดีที่มีสำนักงานอยู่ในไทย  สิงคโปร์ บังคลาเทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกที่ต้องการรักษาด้วยอนุภาคบำบัดนั้น สามารถไปรักษาที่ญี่ปุ่นได้

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (7)

การรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาด้วยรังสีโฟตอนในประเทศสหรัฐอเมริกา ในรอบปีที่ผ่านมากลับพบเจอปัญหาอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งส่งผลให้คนไข้หลายรายได้รับผลกระทบ จนกระทั่งเกิดคดีความและการสอบสวนขึ้น แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์เดียวกันในแต่ละประเทศแต่การดูแลและการซ่อมบำรุงของอุปกรณ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าข้อผิดพลาดของการดูแลซ่อมบำรุงและตรวจสอบให้ได้มาตรฐานหมายถึง ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บรรดาสถาบันทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นตระหนักดีถึงความสำคัญข้อนี้ จึงมีมาตรการเข้มงวดอย่างมากในการทำการรักษาผู้ป่วย ดังที่เคยได้กล่าวแล้วว่า แนวคิดของทีมสาธารณสุขของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นนั้น มุ่งเน้นการรักษาเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Quality of Life) การรักษานั้นจึงต้องมีการวางแผนอย่างเฉียบขาดเพื่อให้ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ไม่มากก็น้อย

จากรายงานของ International Herald Tribune ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2010-2011 ที่ผ่านมาพบว่า มีการรายงานการรักษาที่ผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับรังสีรักษาในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก (ตัวอย่างเช่น บทความ As Technology Surges, Radiation Safeguards Lag โดย New York Times) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งมีผลข้างเคียงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น เซลล์ที่เสียสภาพเนื่องจากการได้รับรังสีเอกซ์ และแกมมา มากเกินไป นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบจากการทำรังสีวินิจฉัย (Brain CT Scan) ดังเช่นรูปด้านล่าง

ผลข้างเคียงจากการใช้รังสีเกินขนาดที่ควรจะได้รับ ในประเทศสหรัฐอเมริกา (แหล่งที่มาของภาพ New York Times)

การรักษาด้วยรังสีโฟตอนยังคงเป็นที่แพร่หลายในหมู่แพทย์รังสีรักษา ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมหากมีการควบคุมด้วยนักฟิสิกส์การแพทย์ นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ และวิศวกรการแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยนั้นกำลังมีการพัฒนาสาขาดังกล่าวให้ชำนาญการและเชี่ยวชาญในการตอบสนองการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เมื่อกล่าวถึงปริมาณของบุคลากรทางด้านรังสีรักษา กลับพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีทีมวิศวกรการแพทย์เป็นจำนวนมาก แทบจะเรียกได้ว่ามากที่สุดในทวีปเอเชียและยุโรปได้ วิศวกรเหล่านี้จะทำหน้าที่คอยทซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รังสีที่ใช้ในการรักษาออกมาในปริมาณที่เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นจะทำการซ่อมแซมและดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการใช้ทุกวัน

เมื่อตรวจสอบจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา สาเหตุหลักที่ผู้ป่วยต้องได้รับผลกระทบจากรังสีที่เกินในหลายรัฐทั่วทั้งประเทศนั้น เป็นเพราะปริมาณวิศวกรการแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์ที่ความชำนาญน้อยและไม่พิถีพิถันในการตรวจสอบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์นั้นเป็นอุปกรณ์ที่อันตรายและต้องห้ามแต่อย่างใด แต่ดังที่ได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วว่าการใช้รังสีรักษาด้วยรังสีโฟตอนนั้น แม้ว่าจะเป็นนวัตกรรมล่าสุดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านแต่ปริมาณรังสีที่ได้รับนั้นเข้มข้นมาก ซึ่งส่งผลต่อเซลล์ดีที่อยู่ตั้งแต่ชั้นผิวหนังลงไปได้

การนำเอาอนุภาคบำบัดมาใช้แทนการรักษาด้วยรังสีโฟตอนจึงเป็นทางเลือกในการรับรังสีที่น้อยกว่า และมีผลการรักษาที่ดีกว่า ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในประเทศญี่ปุ่นและนานาประเทศจำนวนมากและจะได้นำมาเล่าในครั้งต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (6)

ในครั้งที่แล้วที่ได้เล่าเรื่องราวว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการแพทย์ขั้นสูง เกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์บำบัดสำหรับโรคมะเร็งต่างๆ ไม่เพียงแค่นั้น การรักษาด้วยวิธีอื่นๆรวมถึงวิธีการทางรังสีรักษาของญี่ปุ่นนั้นยังเป็นที่กล่าวขานในวงการแพทย์ด้วย

การรักษาทางรังสีรักษาโดยมาตรฐานทั่วไปที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นการรักษาด้วยรังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธี IMRT, IMPT, Gamma Knife, และรวมถึง Cyber Knife เนื่องจากการรักษาดังกล่าวเป็นการรักษาด้วยรังสีโฟตอน รังสีดังกล่าวนั้นต้องใช้พลังงานสูงเพื่อเข้าถึงส่วนของเซลล์มะเร็งที่ค่อนข้างลึก และมีผลต่อเซลล์ดีข้างเคียงค่อนข้างมาก เนื่องจากการฉายรังสีความเข้มสูงสู่ส่วนอวัยวะต่างๆของร่างกายต้องผ่านเซลล์ดีรายรอบและเมื่อโดนรังสีก็จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรม อันเป็นสาเหตุของการเกิดเซลล์ที่อาจก่อมะเร็งหรือการหยุดกระบวนการตามปกติของเซลล์นั้นๆได้ ดังเห็นได้จากผลข้างเคียงของการรักษาด้วยรังสีรักษา อาทิ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง อาการบวมแดงที่ผิวหนัง หรือผื่น ผมร่วง อ่อนเพลีย หรือภูมิต้านทานลดลง  อย่างไรก็ดีการรักษาดังกล่าว ก็เป็นการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย และอาเซียน ซึ่งให้ผลที่ค่อนข้างน่าพอใจไม่น้อย

Cyber Knife Robotic System (Funuc) (แหล่งที่มาของภาพ: www.robonable.jp)

การรักษาด้วย Cyber knife ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นโดย ศาสตราจารย์ John A. Adler ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทางด้านประสาทศัลยกรรมและรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ Cyber Knife Robotic Systemตัวแรกนั้นใช้ระบบจากญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Funuc และภายหลังทางเยอรมันนี ได้นำไปประยุกต์เพิ่มขึ้น การรักษาด้วย Cyber Knife Robotic System เองก็มีข้อดีคือ เป็น การรักษาแบบจุดจำเพาะซึ่งลดความเสี่ยงในการฉายรังสี แบบกระจายครอบคลุม ซึ่ง ทำให้ เซลล์ดีโดนทำลายน้อยลงแต่ก็ยังถูกทำลายอยู่ดี

ทำไมการใช้โฟตอนถึงทำลายเซลล์ดี




การฉายแสงแบบปรับความเข้มสามมิติ IMRT ในมะเร็งต่อมลูกหมาก (แหล่งที่มาของภาพ http://www.rmgmed.com)



รังสีทุกชนิดย่อมมีผลเสียต่อเซลล์ เนื่องจากการรบกวนสภาวะปกติของรหัสพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ที่เรารู้จักกัน การฉายรังสีที่มีความเข้มสูงมากก็เนื่องมาจากต้องการจะรบกวนสภาวะปกติของเซลล์มะเร็งเพื่อให้เกิดการเขย่าเส้นรหัสพันธุกรรมให้ขาดออกและเกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ ทำให้เซลล์มะเร็งนั้นตายในลำดับต่อมา อย่างไรก็ดีการฉายรังสีโฟตอน (รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา รวมถึงอนุพันธ์ของรังสีทั้งสองชนิด) เพื่อการรักษามะเร็งในอวัยวะที่อยู่ไม่ลึกมาก นั้นเป็นการรักษาที่เหมาะสม เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งหนังศีรษะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือในส่วนที่อยู่ไม่ลึกเกินไป แต่ถ้าเป็นมะเร็งที่อยู่ในอวัยวะที่ลึกหรือเป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่มีการขยับอยู่ตลอดเวลานั้น การรักษาด้วยโฟตอนจะมีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย การรักษาทางรังสีรักษาจึงมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมสูงสุดสำหรับรังสีโฟตอนในการรักษา อันได้แก่ การเพิ่มการฉายแสงด้วยการปรับความเข้ม หรือที่รู้จักกันในนาม IMRT รวมไปถึงการฉายแสงแบบปรับความเข้มพร้อมการฉายภาพรังสี หรือ IGRT ซึ่งใช้ในการพัฒนาการรักษาสำหรับอวัยวะที่มีการขยับอยู่ตลอด อย่างไรก็ดี ปริมาณของรังสีที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับก็จะต้องผ่านบริเวณที่มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งความเสียหายต่อเซลล์ดีนั้นก็ขึ้นกับความชำนาญและปริมาณการรักษานั่นเอง

การรักษาทางรังสีรักษาด้วย IMRT, IGRT, Gamma Knife, Cyber Knife Robotic System นั้นในประเทศญี่ปุ่นก็มีใช้อย่างกว้างขวางเหมือนสากลเช่นกัน แต่เนื่องจากการรักษาด้วยรังสีโฟตอนนั้นส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงได้ค่อนข้างง่าย จึงได้พัฒนาการแพทย์ขั้นสูงทางด้านรังสีรักษาและจะได้นำมาเล่าให้ฟังต่อไป



วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (5)

ในปัจจุบันนอกจากการรักษามะเร็งด้วยวิธีการทางศัลยกรรมและเคมีบำบัดแล้ว การรักษาที่มีการกล่าวถึงก็คือการรักษาด้วยเซลล์ ซึ่งการรักษาด้วยเซลล์ก็มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือที่เรียกกันจนคุ้นเคยว่า สเต็มเซลล์ การรักษาดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายอย่างทั่วโลก ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

การรักษาด้วยเซลล์บำบัด หรือที่เรามักจะคุ้นเคยกันในชื่อวัคซีนต้านมะเร็งบ้าง เซลล์ต้านมะเร็งบ้างนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศอื่นๆนอกเหนือจาก ประทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมากนัก เนื่องด้วยความท้าทายในการรักษาและความขาดแคลนในสารเคมี หรือยาที่เกี่ยวเนื่อง แต่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นได้มีการพัฒนาการรักษาด้วยยีนและเซลล์บำบัดเพื่อต้านมะเร็งอย่างแพร่หลาย และหนึ่งในการรักษาที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ การรักษาด้วย Dendritic cell vaccine WT1 แล้วโดยมี โรงพยาบาล/คลินิคที่เปิดให้บริการดังนี้

Dendritic Cell Therapy Model (แหล่งที่มาของภาพ Http://www.nileport.com)

  • โรงพยาบาล Hokuyu เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด
  • โรงพยาบาล Hokuto เมืองโอบิฮิโระ จังหวัดฮอกไกโด
  • Sendai Ekimae AER Clinic เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ
  • Seren Clinic เขตมินาโตะ กรุงโตเกียว
  • Tokyo Midtown Medical Center เขตมินาโตะ กรุงโตเกียว
  • Kudan Clinic เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว
  • Shinyokohama Kato Clinic เขตโยโกฮาม่า กรุงโตเกียว 
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชินชู Shinshu University Hospital เมืองมัทซึโมโตะ จังหวัดนางาโนะ
  • โรงพยาบาลทันตกรรมมัทซึโมโตะ เมืองชิโอจิหริ จังหวัดนางาโนะ
  • Seren Clinic Nagoya อำเภอเมือง จังหวัดนาโงย่า
  • Saint Louis Clinic เขตเกียวโต กรุงเกียวโต
  • Seren Clinic Kobe เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโง
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอฮิเมะ เมืองโทอน จังหวัดเอฮิเมะ
  • Hanazono Clinic เมืองฟุกุยามะ จังหวังฮิโรชิมะ
  • Kagoshima Medical Center เมืองคาโงชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ
  • Fukuoka IMAX clinic อำเภอเมือง จังหวัดฟุกุโอกะ
  • Seta Clinic Group สำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงโตเกียว 

การรักษาด้วยวิธีทาง Immuno-Cell Therapy (แหล่งที่มาของภาพ Seta Clinic Group, JAPAN)


ขั้นตอนการรักษาด้วย Dendritic Cell Therapy

    1. ผู้ป่วยรับการฟอกเลือดด้วยวิธีอะเฟอเรซิสเพื่อแยกเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte (Leukapheresis) สำหรับใช้ในการปลูกถ่ายวัคซีน
    2. ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะทำการเพาะวัคซีนเพื่อพัฒนาเป็น Dendritic cell 
    3. ทำการกระตุ้นเซลล์ Dendritic cell ด้วยเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเพื่อให้เซลล์มีการจำลักษณะเซลล์มะเร็งนั้นๆและเข้าทำลายได้
    4. ฉีดวัคซีนที่ได้เข้าสู่เส้นเลือดของผู้ป่วยเพื่อให้เซลล์ออกฤทธิ์
แล้ว WT1 คืออะไร และทำไมจึงสำคัญมากกับการรักษาโรคมะเร็ง
              WT1 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Wilm's Tumor Gene ซึ่งเป็นยีนที่ตอบสนองต่อการสร้างเซลล์มะเร็งไตในเด็ก ซึ่งยีนในหนูทดลองที่ไม่มียีนนี้จะมีปัญหาเดี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะและตายด้วยอาการหัวใจวาย เนื่องจากยีนดังกล่าวผลิตตำแหน่งโปรตีนที่สำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตและการกลายประเภทของเซลล์ ยีนดังกล่าวจะพบมากในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์และแพทย์พบว่า โปรตีนที่ได้จากยีน WT1 คุณสมบัติเป็น tumor rejection antigen หรือแอนติเจนที่ต่อต้านเซลล์มะเร็ง มีการศึกษา การใช้วัคซีนดังกล่าว เพื่อการรักษาโดยที่สามารถใช้รักษาได้ในผู้ป่วยหลายรายนั้น มีดังนี้

      • Glioblastoma Multiforme มะเร็งสมอง
      • Renal Cell Carcinoma มะเร็งไต
      • Multiple Myeloma มะเร็งเม็ดเลือดขาว
      • Acute Myeloid Leukemias and Myelodysplastic syndrome มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยด์
      • Lung Cancer มะเร็งปอด
      • Breast Cancer มะเร็งเต้านม
      • Infantile Cancer มะเร็งในเด็ก
ด้วยสาเหตุที่มีความเป็นไปได้ในการรักษามะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เป็นที่แพร่หลายและยอมรับในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาวัคซีนเซลล์บำบัดดังกล่าวจนสามารถใช้ได้ในระดับสากล ซึ่งทำให้การรักษามะเร็งด้วยวิธีนี้ มีให้บริการเป็นพิเศษในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น 

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (4)

นอกจากการผ่าตัดส่องกล้องที่ประเทศญี่ปุ่น ได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นเป็นที่แรกของโลกแล้ว การรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่บ่งบอกถึงความคิดอันเลื่องลือของแพทย์ญี่ปุ่น

ในความเป็นจริงปัญหาอันเกิดจากผลข้างเคียงต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว นับตั้งแต่ผมร่วง มีร่างกายซูบผอม น้ำหนักลด อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจจะมีอาการถึงขั้น ความจำเสื่อม ภาวะโลหิตเป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยมะเร็งแทบทุกคนที่ได้รับเคมีบำบัดต่างหวาดกลัวทั้งสิ้น ยาที่ทำการรักษานั้นก็ต้องใช้ให้ได้เหมาะกับเซลล์มะเร็งเพื่อป้องกันการลุกลาม แต่ว่าอวัยวะส่วนอื่นก็จะต้องได้รับการดูดซับสารเคมีเหล่านี้เข้าไปในร่างกายด้วย ดังนั้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่ทำเคมีบำบัดนั้นก็มักจะได้รับความทุกข์ทรมานร่างกาย มากกว่าก้อนมะเร็งเสียอีก

นายแพทย์ชินอิจิ โฮริ (Dr. Shinichi Hori) (แหล่งที่มาของภาพ: http://smpy.jp)

นับตั้งปี 1992 ที่ นายแพทย์ ชินอิจิ โฮริ (Dr. Shinichi Hori) แห่งสถาบันการแพทย์ริงคุ ในจังหวัดโอซากา ได้ประดิษฐ์ตัวดูดซับความซึมซับพิเศษ (Superabsorbent polymer microspheres (SAP-MS)) และประยุกต์การรักษาด้วยวิธีการส่งตัวดูดซับยาเคมีบำบัดผ่านสายสวนเส้นเลือด (Endovascular Internventional Therapy) การขจัดความหวาดกลัวของผู้ป่วยมะเร็งก็เริ่มมีความหวังขึ้น นายแพทย์โฮริ ได้สร้างสถาบันการแพทย์ Gate Tower Institute for Image Guided Therapy ขึ้นที่จังหวัดโอซากา และอุทิศตนนับแต่นั้นเพื่อการพัฒนาเทคนิคการรักษาผ่านสายสวนเส้นเลือดนี้ จนกระทั่งปัจจุบันท่านได้ทำการรักษาทั้งคนไข้ญี่ปุ่นและคนไข้ต่างชาติมากกว่า 7000 คน และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญฝึกฝนแพทย์จากหลากหลายประเทศเพื่อการรักษาด้วยเทคนิคนี้ การรักษาดังกล่าวก็สามารถนำไปใช้รักษากับโรคมะเร็งจากหลายๆอวัยวะรวมถึง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และการแพร่กระจายไปยังกระดูก

ตัวดูดซับความซึมซับพิเศษ (Superabsorbent polymer microspheres (SAP-MS)  ที่นายแพทย์โฮริเป็นผู้คิดค้นขึ้น (แหล่งที่มาของภาพ: http://www.igct.jp)

เทคนิคการรักษาด้วย SAP-MS นี้ ใช้ได้ดีอย่างมากในคนไข้มะเร็งที่ผ่านการรักษาขั้นต้นมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไข้มะเร็งเต้านมที่ผ่านการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือรังสีรักษา และเกิดการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จากสถิติของสถาบัน Gate Tower ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้นมีโอกาส จะเกิดการมะเร็งชนิดแพร่กระจายไปยังตับได้ถึง 15 % ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาหลังการผ่าตัดหรือการป้องกันหลังได้รับรังสีรักษา การรักษาด้วยสายสวนนี้น่าจะเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานกับผลข้างเคียง จากการรักษาของนายแพทย์ โฮริ ผู้ป่วยเองก็มีความสะดวกสบายที่ไม่ต้องได้รับยาในปริมาณสูงทั่วร่างกาย เนื่องจากการรักษาดังกล่าวนั้นลดปริมาณยาได้ถึง 9 เท่า

Microcatheter สายสวนหลอดเลือดขนาดจิ๋วที่ใช้สอดผ่านเส้นเลือดไปยังก้อนมะเร็งเพื่อลำเลียงตัวดูดซับยาเคมีบำบัด (SAP-MS) ไปอุดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง (แหล่งที่มาของภาพ: http://www.igtc.jp)


ในขณะที่วิทยาการด้านการรักษาด้วยสายสวนมีการเดินก้าวไปข้างหน้า การรักษาด้วยยาประเภทต่างๆเช่น Biologic Drug ที่เน้นการต่อต้านเซลล์มะเร็งด้วยสารเคมีในร่างกายผู้ป่วยผ่านการกระตุ้นด้วยยาบางประเภท ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (3)

การผ่าตัดรักษามะเร็งด้วยวิธีที่ทันสมัยนั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งหัตถการดังกล่าวนี้มีการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้นั้น ในประเทศญี่ปุ่นมีแพทย์ผู้ชำนาญการซึ่งเป็นท่านแรกในโลกที่ค้นพบ pit-pattern colorectal cancer หรือ การตรวจพบเซลล์มะเร็งลำไส้ที่มีลักษณะนอกเหนือจากการค้นพบที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ การป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำหลังจากการตัดเซลล์มะเร็งแบบที่เป็นติ่งออกนั้น ทำได้มากกว่าและมีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ท่านผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ชินเอ คุโดะ 

ศาสตราจารย์ คุโดะ และ ลักษณะของ pit-pattern colon cancer (แหล่งที่มาของภาพ  www.websurg.com)
การค้นพบของศาสตราจารย์คุโดะ และ การรักษาของท่านเป็นที่เลื่องลือมากเนื่องจากเป็นการตรวจสอบเนื้อเยื่อลำไส้ที่ไม่เจ็บตัวมาก และเมื่อพบเซลล์มะเร็งหรือเนื้อเยื่อมะเร็งที่ลำไส้นั้น สามารถทำการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ด้วยวิธีการที่ทันสมัย และไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องท้อง ซึ่งเป็นผลให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์เกี่ยวกับ การค้นหาเซลล์มะเร็งลำไส้ และ การรักษาด้วยวิธี less-invasive treatment เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบกับเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในด้านระบบกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดจิ๋ว ทำให้การรักษามะเร็งลำไส้ของประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นผู้นำระดับแนวหน้า ซึ่งระบบกล้องกำลังขยายสูงนี้ ศาสตราจารย์คุโดะ ก็เป็นผู้คิดค้น และพัฒนาขึ้นด้วยตนเองอีกด้วย


(แหล่งที่มาของภาพ www.drstyle.tv)

และนับตั้งแต่ปี 2001 ที่ ท่านได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโชวะ ท่านได้ทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากกว่า 100,000 ราย และเดินทางแสดงปาฐกถาไปทั่วโลก ในการสัมมนาของท่าน ท่านจะแนะนำผู้ที่มีอายุมากกว่า  40 ปี และมีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ให้มาตรวจส่องดูลำไส้เพื่อหาเซลล์มะเร็งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการรอดพ้นจากการเป็นมะเร็ง และการรักษาที่ทันท่วงที โดยท่านสามารถส่งข้อมูลการส่องกล้องที่โรงพยาบาลในไทย ไปยังท่านเพื่อให้ประเมินและรับการรักษาผ่านช่องทางนี้ (คลิกที่นี่) ได้

เมื่อมองถึงเหตุผลที่การรักษามะเร็งลำไส้ของประเทศญี่ปุ่นนั้นก้าวหน้า ก็เป็นเพราะว่า อุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร (นับตั้งแต่ช่องปากจนถึงทวารหนัก) นั้นสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับชาวญี่ปุ่นก็คือ การตรวจหามะเร็งในระบบทางเดินอาหาร การรักษาของ ศาสตราจารย์ คุโดะ ก็ได้ช่วยชีวิต ชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากจากการตรวจพบเนื้อเยื่อมะเร็งร้ายในรูปแบบใหม่ ก่อนที่จะก่อตัวและแพร่กระจายออกไปสู่อวัยวะและส่วนอื่นๆได้

นับเป็นความก้าวหน้าทั้งทางเทคโนโลยี บุคคลากร และ การรักษาก้าวหน้า ของประเทศญี่ป่นในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีทางหัตถการอีกอย่างหนึ่ง



วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งที่ประเทศญี่ปุ่น(2)

การรักษามะเร็งโดยทั่วไปในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย การรักษาสามแบบ ซึ่งจะมีการใช้ร่วมกันหรือแยกกัน แล้วแต่กรณีของผู้ป่วยและพยาธิสภาพของโรค ได้แก่
      • การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment)
      • การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy Treatment)
      • การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy Treatment)
เป็นที่แน่นอนว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นถือเป็น Gold Standard สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเพราะสามารถมองเห็นได้ถึงพยาธิสภาพและสามารถจัดการได้ด้วยการตัดชิ้นเนื้อที่มีโอกาสแพร่กระจายออกจนครบ แต่ในหลายๆโอกาส พยาธิสภาพ และอายุของผู้ป่วยอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบเปิดได้ การผ่าตัดมะเร็งแบบปิด (Less-invasive Surgery) จึงมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาเทคนิค ในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เป็นที่แรกๆในโลกอีกด้วย นอกจากนี้ การผ่าตัดผ่านสายสวนหรือการส่องกล้องสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci ที่ โรงพยาบาล มัทซึนามิ ประเทศญี่ปุ่น (Courtesy Matsunami Hospital Japan)
จากการสนทนากับ Mr. Yoshiyuki Kobori หัวหน้าสภาส่งเสริมอนุภาคหนักบำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อเมษายน 2554  ท่านกล่าวถึงองค์ประกอบของเครื่อง da Vinci ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเราแยกองค์ประกอบของ da Vinci ออกมา เราจะพบว่า ส่วนสำคัญๆ ของเครื่องและระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์สามมิติ ที่ใช้มองภาพขณะผ่าตัด หรือฟันเฟือง เลนส์ และ ด้ามคีบ ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างและออกแบบทั้งสิ้น เพียงแต่การประกอบตัวเครื่องนั้น จัดทำที่บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากการสร้างและจัดทำนั้นญี่ปุ่นเป็นตัวแปรในการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ แพทย์ญี่ปุ่นร่วมกับวิศวกร จึงมีความชำนาญในการใช้เครื่องมืออย่างมาก ซึ่งเหตุนี้ทำให้ da Vinci เป็นระบบที่ได้ถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆทางการแพทย์ รวมถึง ด้านศัลยศาสตร์ทรวงอก ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงด้านสูตินรีเวชศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอีกจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อไป



วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งที่ประเทศญี่ปุ่น(1)

Copyright @CY 2009

มะเร็ง ภัยร้ายจากเซลล์ตัวเล็กๆ ที่คร่าชีวิตคนไปมากนักต่อนัก ก็เป็นปัญหาระยะยาวในผู้ป่วยญี่ปุ่นเช่นกัน นโยบายการรักษาโรคมะเร็งของประเทศญี่ปุ่นจึงมิใช่แค่มุ่งเน้นที่การรักษาให้หายขาดแต่ต้องเป็นการรักษาที่มีชีวิตอย่างมีคุณภาพมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

ในอดีตสมัยที่ผู้เขียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เคยมีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งอายุ 65 เธอเป็นมะเร็งที่เต้านมซ้ายเมื่อสมัยยังสาว และต้องตัดเต้านมออกข้างหนึ่ง เมื่อสิบกว่าปีก่อนเธอก็ป่วยอีกครั้งด้วยโรคมะเร็งที่เต้านมขวา และพบมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย ผู้เขียนรู้สึกแปลกประหลาดใจมากที่เธอยังเดินวันละ 4 กิโลเมตร ไปกลับจากมหาวิทยาลัยและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่เธอรู้ว่าเธอเป็นมะเร็งนั้น เธอตกใจมากและกังวลว่าเธออาจจะต้องจากโลกนี้ไปอย่างรวดเร็ว เธอแทบเสียคน แต่ด้วยคำอธิบายจากแพทย์ ที่ใช้เวลาอธิบายให้เธอเข้าใจค่อนข้างมาก พร้อมกับทีมแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เธอจึงตัดสินใจรักษาตัว เนื่องด้วยระบบประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นสามารถช่วยเธอได้อย่างดี การผ่าตัดประสบความสำเร็จเนื่องจากใช้การผ่าตัดแบบปิดและเสียเลือดน้อย แม้ว่าเธอจะน้ำหนักน้อยมาก เนื่องจากซูบผอมจากมะเร็ง แต่ทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลในญี่ปุ่นนั้นก็ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอไม่ได้ป่วยหนักแต่อย่างใด ทุกๆคนคอยสอบถามอาการและให้กำลังใจเธอ เหมือนเธอนั้นปกติทุกอย่าง อันที่จริงเธอไม่ได้บอกใครว่าเธอเป็นมะเร็ง เมื่อมหาวิทยาลัยปิดเทอม เธอก็หยุดพักงานของเธอ และกลับมาด้วยท่าที ที่สดใสกว่าเดิม ภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดครั้งหลังนั้น เธอใช้เวลาฟื้นตัวสั้นมากเพราะว่าการรักษาที่ทีมแพทย์ออกแบบมานั้นส่งเสริมให้การฟื้นตัวได้อย่างดี นี่ยังไม่นับถึงกำลังใจที่ทีมแพทย์และทีมพยาบาล ให้กับเธออยู่สม่ำเสมออีกด้วย

ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้รับทราบเรื่องนี้ เธอเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเป็นประกายว่า "ฉันไม่กลัวมะเร็ง เพราะฉันอยู่กับมันมาตั้งเกือบ ครึ่งชีวิตแล้ว" เมื่อเธอจากไป

ปัจจุบันผมยังคงติดต่อเธออยู่เป็นครั้งคราว  เธอยังคงทำงานหนักแม้ว่าอายุของเธอจะมากแล้ว แต่เธอก็ยังมีความสุขกับชีวิตได้อย่างดี แม้ว่าเธอจะต้องเผชิญกับมะเร็งร้ายถึงสามครั้งสามคราวเลยทีเดียว นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าการรักษามะเร็งที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มุ่งเน้นการรักษาเพื่อการหายป่วยอย่างเดียวเท่านั้นแต่การวางแผนนั้นผนวกความคิดเรื่อง Quality of life ไว้อย่างดีด้วย




วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เปิดประตูสู่การรักษาที่ญี่ปุ่น

  ลิขสิทธิ์ภาพ @CY 2010

 นอกจากวัฒนธรรมที่สวยงาม อาหารอันลือชื่อก้องโลก รวมถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย ของญี่ปุ่น ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการแพทย์ขั้นสูงของโลกคู่กับเพื่อนเก่าอย่างสหรัฐอเมริกาและหลากหลายประเทศ ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศที่ต่อเนื่องในการทำวิจัยและการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา รวมถึงความสามารถในการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาในการรักษาทำให้ญี่ปุ่น ก้าวเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์มาเป็นระยะเวลานาน เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเองก็เป็นที่หนึ่งในการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่เขาเป็นผู้พัฒนาขึ้นมานานนับหลายสิบปี

ในปี 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการเปิดแคมเปญ Medical Excellence Japan (เว็บไซต์) ร่วมกับ Visa for Medical Stay (รายละเอียด) ขึ้น โดยมุ่งหวังจะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ต้องการรับการรักษาในประเทศญี่ปุ่นให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ในค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ โดยมีบริการหลักๆดังนี้
  • บริการค้นหาแพทย์และโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น
  • บริการจัดแพคเกจเฉพาะบุคคลเพื่อการตรวจร่างกายและการรักษาขั้นสูง
  • บริการอำนวยความสะดวกในการขอ Visa for Medical Stay สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว 
  • บริการประสานงานการทำนัดกับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น
  • บริการประสานงานเป็นผู้แทนการจัดการค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นแทนผู้ป่วย
  • บริการจองที่พัก หอพัก และโรงแรม
  • บริการจองตั๋วเครื่องบิน รถและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
  • บริการล่าม ล่ามทางการแพทย์ และศูนย์บริการ 24 ชั่วโมง
  • บริการผู้แทนติดตามและรับส่งระหว่างสนามบิน โรงพยาบาล และที่พักอาศัย ในประเทศญี่ปุ่น
  • บริการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ และอื่นๆ
โดยปกติแล้ว ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความยากในการเข้าประเทศเนื่องจากการขอวีซ่าที่ผ่านได้ยากมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยจะเดินทางไปรักษาตัว ก็คงคิดหนักอยู่เหมือนกัน Visa for Medical Stay จึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างมาก เนื่องจาก วีซ่าประเภทนี้มีความพิเศษกว่าวีซ่าประเภทอื่นๆดังนี้
  • ผู้ป่วยสามารถพาครอบครัวหรือผู้ติดตามที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไปด้วยได้ ในวีซ่าเดียวกัน 
  • วีซ่ามีทั้งชนิด ครั้งเดียว (สูงสุด 90 วัน) และหลายครั้ง (สูงสุด 1-3ปี) (ขึ้นกับระยะเวลาการรักษา ณ โรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น)
  • เป็นวีซ่าที่ต้องใช้เอกสารแสดงตารางการรักษาและเอกสารร่วมแสดงการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบเอกสิทธิ์เท่านั้น 
โดยโครงการนี้น่าจะเป็นช่องทางพิเศษ สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการรับการรักษาขั้นสูงที่ยังไม่มีในไทย เช่นการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคบำบัด การรักษาโรคด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษาด้วยวิธีรักษาแนวใหม่ (Less invasive Treatment) และการผ่าตัดด้วยสายสวนเส้นเลือดฯลฯ โดยทางหน่วยงานที่ได้รับมอบเอกสิทธิ์เล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับผู้ป่วย แต่ยังจะเป็นประโยชน์กับแพทย์ทั้งในและนอกประเทศไทยด้วยที่จะสามารถบริหารจัดการแนวทางการรักษาที่หลากหลายได้เพิ่มขึ้น

ท่านที่สนใจก็เชิญติดต่อด้วยภาษาอังกฤษได้ ที่ ลิงค์ นี้ https://www.eaj.ne.jp/maj/en/inquiry