วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (5)

ในปัจจุบันนอกจากการรักษามะเร็งด้วยวิธีการทางศัลยกรรมและเคมีบำบัดแล้ว การรักษาที่มีการกล่าวถึงก็คือการรักษาด้วยเซลล์ ซึ่งการรักษาด้วยเซลล์ก็มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือที่เรียกกันจนคุ้นเคยว่า สเต็มเซลล์ การรักษาดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายอย่างทั่วโลก ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

การรักษาด้วยเซลล์บำบัด หรือที่เรามักจะคุ้นเคยกันในชื่อวัคซีนต้านมะเร็งบ้าง เซลล์ต้านมะเร็งบ้างนั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศอื่นๆนอกเหนือจาก ประทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมากนัก เนื่องด้วยความท้าทายในการรักษาและความขาดแคลนในสารเคมี หรือยาที่เกี่ยวเนื่อง แต่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นได้มีการพัฒนาการรักษาด้วยยีนและเซลล์บำบัดเพื่อต้านมะเร็งอย่างแพร่หลาย และหนึ่งในการรักษาที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ การรักษาด้วย Dendritic cell vaccine WT1 แล้วโดยมี โรงพยาบาล/คลินิคที่เปิดให้บริการดังนี้

Dendritic Cell Therapy Model (แหล่งที่มาของภาพ Http://www.nileport.com)

  • โรงพยาบาล Hokuyu เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด
  • โรงพยาบาล Hokuto เมืองโอบิฮิโระ จังหวัดฮอกไกโด
  • Sendai Ekimae AER Clinic เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ
  • Seren Clinic เขตมินาโตะ กรุงโตเกียว
  • Tokyo Midtown Medical Center เขตมินาโตะ กรุงโตเกียว
  • Kudan Clinic เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว
  • Shinyokohama Kato Clinic เขตโยโกฮาม่า กรุงโตเกียว 
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชินชู Shinshu University Hospital เมืองมัทซึโมโตะ จังหวัดนางาโนะ
  • โรงพยาบาลทันตกรรมมัทซึโมโตะ เมืองชิโอจิหริ จังหวัดนางาโนะ
  • Seren Clinic Nagoya อำเภอเมือง จังหวัดนาโงย่า
  • Saint Louis Clinic เขตเกียวโต กรุงเกียวโต
  • Seren Clinic Kobe เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโง
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอฮิเมะ เมืองโทอน จังหวัดเอฮิเมะ
  • Hanazono Clinic เมืองฟุกุยามะ จังหวังฮิโรชิมะ
  • Kagoshima Medical Center เมืองคาโงชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ
  • Fukuoka IMAX clinic อำเภอเมือง จังหวัดฟุกุโอกะ
  • Seta Clinic Group สำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงโตเกียว 

การรักษาด้วยวิธีทาง Immuno-Cell Therapy (แหล่งที่มาของภาพ Seta Clinic Group, JAPAN)


ขั้นตอนการรักษาด้วย Dendritic Cell Therapy

    1. ผู้ป่วยรับการฟอกเลือดด้วยวิธีอะเฟอเรซิสเพื่อแยกเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte (Leukapheresis) สำหรับใช้ในการปลูกถ่ายวัคซีน
    2. ทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะทำการเพาะวัคซีนเพื่อพัฒนาเป็น Dendritic cell 
    3. ทำการกระตุ้นเซลล์ Dendritic cell ด้วยเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเพื่อให้เซลล์มีการจำลักษณะเซลล์มะเร็งนั้นๆและเข้าทำลายได้
    4. ฉีดวัคซีนที่ได้เข้าสู่เส้นเลือดของผู้ป่วยเพื่อให้เซลล์ออกฤทธิ์
แล้ว WT1 คืออะไร และทำไมจึงสำคัญมากกับการรักษาโรคมะเร็ง
              WT1 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Wilm's Tumor Gene ซึ่งเป็นยีนที่ตอบสนองต่อการสร้างเซลล์มะเร็งไตในเด็ก ซึ่งยีนในหนูทดลองที่ไม่มียีนนี้จะมีปัญหาเดี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะและตายด้วยอาการหัวใจวาย เนื่องจากยีนดังกล่าวผลิตตำแหน่งโปรตีนที่สำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตและการกลายประเภทของเซลล์ ยีนดังกล่าวจะพบมากในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์และแพทย์พบว่า โปรตีนที่ได้จากยีน WT1 คุณสมบัติเป็น tumor rejection antigen หรือแอนติเจนที่ต่อต้านเซลล์มะเร็ง มีการศึกษา การใช้วัคซีนดังกล่าว เพื่อการรักษาโดยที่สามารถใช้รักษาได้ในผู้ป่วยหลายรายนั้น มีดังนี้

      • Glioblastoma Multiforme มะเร็งสมอง
      • Renal Cell Carcinoma มะเร็งไต
      • Multiple Myeloma มะเร็งเม็ดเลือดขาว
      • Acute Myeloid Leukemias and Myelodysplastic syndrome มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยด์
      • Lung Cancer มะเร็งปอด
      • Breast Cancer มะเร็งเต้านม
      • Infantile Cancer มะเร็งในเด็ก
ด้วยสาเหตุที่มีความเป็นไปได้ในการรักษามะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เป็นที่แพร่หลายและยอมรับในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาวัคซีนเซลล์บำบัดดังกล่าวจนสามารถใช้ได้ในระดับสากล ซึ่งทำให้การรักษามะเร็งด้วยวิธีนี้ มีให้บริการเป็นพิเศษในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น 

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (4)

นอกจากการผ่าตัดส่องกล้องที่ประเทศญี่ปุ่น ได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นเป็นที่แรกของโลกแล้ว การรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่บ่งบอกถึงความคิดอันเลื่องลือของแพทย์ญี่ปุ่น

ในความเป็นจริงปัญหาอันเกิดจากผลข้างเคียงต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว นับตั้งแต่ผมร่วง มีร่างกายซูบผอม น้ำหนักลด อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจจะมีอาการถึงขั้น ความจำเสื่อม ภาวะโลหิตเป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยมะเร็งแทบทุกคนที่ได้รับเคมีบำบัดต่างหวาดกลัวทั้งสิ้น ยาที่ทำการรักษานั้นก็ต้องใช้ให้ได้เหมาะกับเซลล์มะเร็งเพื่อป้องกันการลุกลาม แต่ว่าอวัยวะส่วนอื่นก็จะต้องได้รับการดูดซับสารเคมีเหล่านี้เข้าไปในร่างกายด้วย ดังนั้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่ทำเคมีบำบัดนั้นก็มักจะได้รับความทุกข์ทรมานร่างกาย มากกว่าก้อนมะเร็งเสียอีก

นายแพทย์ชินอิจิ โฮริ (Dr. Shinichi Hori) (แหล่งที่มาของภาพ: http://smpy.jp)

นับตั้งปี 1992 ที่ นายแพทย์ ชินอิจิ โฮริ (Dr. Shinichi Hori) แห่งสถาบันการแพทย์ริงคุ ในจังหวัดโอซากา ได้ประดิษฐ์ตัวดูดซับความซึมซับพิเศษ (Superabsorbent polymer microspheres (SAP-MS)) และประยุกต์การรักษาด้วยวิธีการส่งตัวดูดซับยาเคมีบำบัดผ่านสายสวนเส้นเลือด (Endovascular Internventional Therapy) การขจัดความหวาดกลัวของผู้ป่วยมะเร็งก็เริ่มมีความหวังขึ้น นายแพทย์โฮริ ได้สร้างสถาบันการแพทย์ Gate Tower Institute for Image Guided Therapy ขึ้นที่จังหวัดโอซากา และอุทิศตนนับแต่นั้นเพื่อการพัฒนาเทคนิคการรักษาผ่านสายสวนเส้นเลือดนี้ จนกระทั่งปัจจุบันท่านได้ทำการรักษาทั้งคนไข้ญี่ปุ่นและคนไข้ต่างชาติมากกว่า 7000 คน และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญฝึกฝนแพทย์จากหลากหลายประเทศเพื่อการรักษาด้วยเทคนิคนี้ การรักษาดังกล่าวก็สามารถนำไปใช้รักษากับโรคมะเร็งจากหลายๆอวัยวะรวมถึง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และการแพร่กระจายไปยังกระดูก

ตัวดูดซับความซึมซับพิเศษ (Superabsorbent polymer microspheres (SAP-MS)  ที่นายแพทย์โฮริเป็นผู้คิดค้นขึ้น (แหล่งที่มาของภาพ: http://www.igct.jp)

เทคนิคการรักษาด้วย SAP-MS นี้ ใช้ได้ดีอย่างมากในคนไข้มะเร็งที่ผ่านการรักษาขั้นต้นมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนไข้มะเร็งเต้านมที่ผ่านการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด หรือรังสีรักษา และเกิดการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จากสถิติของสถาบัน Gate Tower ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมนั้นมีโอกาส จะเกิดการมะเร็งชนิดแพร่กระจายไปยังตับได้ถึง 15 % ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาหลังการผ่าตัดหรือการป้องกันหลังได้รับรังสีรักษา การรักษาด้วยสายสวนนี้น่าจะเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานกับผลข้างเคียง จากการรักษาของนายแพทย์ โฮริ ผู้ป่วยเองก็มีความสะดวกสบายที่ไม่ต้องได้รับยาในปริมาณสูงทั่วร่างกาย เนื่องจากการรักษาดังกล่าวนั้นลดปริมาณยาได้ถึง 9 เท่า

Microcatheter สายสวนหลอดเลือดขนาดจิ๋วที่ใช้สอดผ่านเส้นเลือดไปยังก้อนมะเร็งเพื่อลำเลียงตัวดูดซับยาเคมีบำบัด (SAP-MS) ไปอุดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง (แหล่งที่มาของภาพ: http://www.igtc.jp)


ในขณะที่วิทยาการด้านการรักษาด้วยสายสวนมีการเดินก้าวไปข้างหน้า การรักษาด้วยยาประเภทต่างๆเช่น Biologic Drug ที่เน้นการต่อต้านเซลล์มะเร็งด้วยสารเคมีในร่างกายผู้ป่วยผ่านการกระตุ้นด้วยยาบางประเภท ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งในประเทศญี่ปุ่น (3)

การผ่าตัดรักษามะเร็งด้วยวิธีที่ทันสมัยนั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งหัตถการดังกล่าวนี้มีการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้นั้น ในประเทศญี่ปุ่นมีแพทย์ผู้ชำนาญการซึ่งเป็นท่านแรกในโลกที่ค้นพบ pit-pattern colorectal cancer หรือ การตรวจพบเซลล์มะเร็งลำไส้ที่มีลักษณะนอกเหนือจากการค้นพบที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ การป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำหลังจากการตัดเซลล์มะเร็งแบบที่เป็นติ่งออกนั้น ทำได้มากกว่าและมีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ท่านผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ชินเอ คุโดะ 

ศาสตราจารย์ คุโดะ และ ลักษณะของ pit-pattern colon cancer (แหล่งที่มาของภาพ  www.websurg.com)
การค้นพบของศาสตราจารย์คุโดะ และ การรักษาของท่านเป็นที่เลื่องลือมากเนื่องจากเป็นการตรวจสอบเนื้อเยื่อลำไส้ที่ไม่เจ็บตัวมาก และเมื่อพบเซลล์มะเร็งหรือเนื้อเยื่อมะเร็งที่ลำไส้นั้น สามารถทำการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ด้วยวิธีการที่ทันสมัย และไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องท้อง ซึ่งเป็นผลให้ความก้าวหน้าทางการแพทย์เกี่ยวกับ การค้นหาเซลล์มะเร็งลำไส้ และ การรักษาด้วยวิธี less-invasive treatment เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบกับเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในด้านระบบกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดจิ๋ว ทำให้การรักษามะเร็งลำไส้ของประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นผู้นำระดับแนวหน้า ซึ่งระบบกล้องกำลังขยายสูงนี้ ศาสตราจารย์คุโดะ ก็เป็นผู้คิดค้น และพัฒนาขึ้นด้วยตนเองอีกด้วย


(แหล่งที่มาของภาพ www.drstyle.tv)

และนับตั้งแต่ปี 2001 ที่ ท่านได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโชวะ ท่านได้ทำการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มากกว่า 100,000 ราย และเดินทางแสดงปาฐกถาไปทั่วโลก ในการสัมมนาของท่าน ท่านจะแนะนำผู้ที่มีอายุมากกว่า  40 ปี และมีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ให้มาตรวจส่องดูลำไส้เพื่อหาเซลล์มะเร็งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการรอดพ้นจากการเป็นมะเร็ง และการรักษาที่ทันท่วงที โดยท่านสามารถส่งข้อมูลการส่องกล้องที่โรงพยาบาลในไทย ไปยังท่านเพื่อให้ประเมินและรับการรักษาผ่านช่องทางนี้ (คลิกที่นี่) ได้

เมื่อมองถึงเหตุผลที่การรักษามะเร็งลำไส้ของประเทศญี่ปุ่นนั้นก้าวหน้า ก็เป็นเพราะว่า อุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร (นับตั้งแต่ช่องปากจนถึงทวารหนัก) นั้นสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับชาวญี่ปุ่นก็คือ การตรวจหามะเร็งในระบบทางเดินอาหาร การรักษาของ ศาสตราจารย์ คุโดะ ก็ได้ช่วยชีวิต ชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากจากการตรวจพบเนื้อเยื่อมะเร็งร้ายในรูปแบบใหม่ ก่อนที่จะก่อตัวและแพร่กระจายออกไปสู่อวัยวะและส่วนอื่นๆได้

นับเป็นความก้าวหน้าทั้งทางเทคโนโลยี บุคคลากร และ การรักษาก้าวหน้า ของประเทศญี่ป่นในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีทางหัตถการอีกอย่างหนึ่ง



วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งที่ประเทศญี่ปุ่น(2)

การรักษามะเร็งโดยทั่วไปในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วย การรักษาสามแบบ ซึ่งจะมีการใช้ร่วมกันหรือแยกกัน แล้วแต่กรณีของผู้ป่วยและพยาธิสภาพของโรค ได้แก่
      • การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment)
      • การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy Treatment)
      • การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy Treatment)
เป็นที่แน่นอนว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นถือเป็น Gold Standard สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเพราะสามารถมองเห็นได้ถึงพยาธิสภาพและสามารถจัดการได้ด้วยการตัดชิ้นเนื้อที่มีโอกาสแพร่กระจายออกจนครบ แต่ในหลายๆโอกาส พยาธิสภาพ และอายุของผู้ป่วยอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบเปิดได้ การผ่าตัดมะเร็งแบบปิด (Less-invasive Surgery) จึงมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาเทคนิค ในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เป็นที่แรกๆในโลกอีกด้วย นอกจากนี้ การผ่าตัดผ่านสายสวนหรือการส่องกล้องสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci ที่ โรงพยาบาล มัทซึนามิ ประเทศญี่ปุ่น (Courtesy Matsunami Hospital Japan)
จากการสนทนากับ Mr. Yoshiyuki Kobori หัวหน้าสภาส่งเสริมอนุภาคหนักบำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อเมษายน 2554  ท่านกล่าวถึงองค์ประกอบของเครื่อง da Vinci ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเราแยกองค์ประกอบของ da Vinci ออกมา เราจะพบว่า ส่วนสำคัญๆ ของเครื่องและระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์สามมิติ ที่ใช้มองภาพขณะผ่าตัด หรือฟันเฟือง เลนส์ และ ด้ามคีบ ล้วนแต่เป็นนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างและออกแบบทั้งสิ้น เพียงแต่การประกอบตัวเครื่องนั้น จัดทำที่บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากการสร้างและจัดทำนั้นญี่ปุ่นเป็นตัวแปรในการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ แพทย์ญี่ปุ่นร่วมกับวิศวกร จึงมีความชำนาญในการใช้เครื่องมืออย่างมาก ซึ่งเหตุนี้ทำให้ da Vinci เป็นระบบที่ได้ถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆทางการแพทย์ รวมถึง ด้านศัลยศาสตร์ทรวงอก ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงด้านสูตินรีเวชศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอีกจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอต่อไป



วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การรักษามะเร็งที่ประเทศญี่ปุ่น(1)

Copyright @CY 2009

มะเร็ง ภัยร้ายจากเซลล์ตัวเล็กๆ ที่คร่าชีวิตคนไปมากนักต่อนัก ก็เป็นปัญหาระยะยาวในผู้ป่วยญี่ปุ่นเช่นกัน นโยบายการรักษาโรคมะเร็งของประเทศญี่ปุ่นจึงมิใช่แค่มุ่งเน้นที่การรักษาให้หายขาดแต่ต้องเป็นการรักษาที่มีชีวิตอย่างมีคุณภาพมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

ในอดีตสมัยที่ผู้เขียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เคยมีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งอายุ 65 เธอเป็นมะเร็งที่เต้านมซ้ายเมื่อสมัยยังสาว และต้องตัดเต้านมออกข้างหนึ่ง เมื่อสิบกว่าปีก่อนเธอก็ป่วยอีกครั้งด้วยโรคมะเร็งที่เต้านมขวา และพบมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย ผู้เขียนรู้สึกแปลกประหลาดใจมากที่เธอยังเดินวันละ 4 กิโลเมตร ไปกลับจากมหาวิทยาลัยและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่เธอรู้ว่าเธอเป็นมะเร็งนั้น เธอตกใจมากและกังวลว่าเธออาจจะต้องจากโลกนี้ไปอย่างรวดเร็ว เธอแทบเสียคน แต่ด้วยคำอธิบายจากแพทย์ ที่ใช้เวลาอธิบายให้เธอเข้าใจค่อนข้างมาก พร้อมกับทีมแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เธอจึงตัดสินใจรักษาตัว เนื่องด้วยระบบประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นสามารถช่วยเธอได้อย่างดี การผ่าตัดประสบความสำเร็จเนื่องจากใช้การผ่าตัดแบบปิดและเสียเลือดน้อย แม้ว่าเธอจะน้ำหนักน้อยมาก เนื่องจากซูบผอมจากมะเร็ง แต่ทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลในญี่ปุ่นนั้นก็ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอไม่ได้ป่วยหนักแต่อย่างใด ทุกๆคนคอยสอบถามอาการและให้กำลังใจเธอ เหมือนเธอนั้นปกติทุกอย่าง อันที่จริงเธอไม่ได้บอกใครว่าเธอเป็นมะเร็ง เมื่อมหาวิทยาลัยปิดเทอม เธอก็หยุดพักงานของเธอ และกลับมาด้วยท่าที ที่สดใสกว่าเดิม ภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดครั้งหลังนั้น เธอใช้เวลาฟื้นตัวสั้นมากเพราะว่าการรักษาที่ทีมแพทย์ออกแบบมานั้นส่งเสริมให้การฟื้นตัวได้อย่างดี นี่ยังไม่นับถึงกำลังใจที่ทีมแพทย์และทีมพยาบาล ให้กับเธออยู่สม่ำเสมออีกด้วย

ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้รับทราบเรื่องนี้ เธอเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเป็นประกายว่า "ฉันไม่กลัวมะเร็ง เพราะฉันอยู่กับมันมาตั้งเกือบ ครึ่งชีวิตแล้ว" เมื่อเธอจากไป

ปัจจุบันผมยังคงติดต่อเธออยู่เป็นครั้งคราว  เธอยังคงทำงานหนักแม้ว่าอายุของเธอจะมากแล้ว แต่เธอก็ยังมีความสุขกับชีวิตได้อย่างดี แม้ว่าเธอจะต้องเผชิญกับมะเร็งร้ายถึงสามครั้งสามคราวเลยทีเดียว นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าการรักษามะเร็งที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มุ่งเน้นการรักษาเพื่อการหายป่วยอย่างเดียวเท่านั้นแต่การวางแผนนั้นผนวกความคิดเรื่อง Quality of life ไว้อย่างดีด้วย




วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เปิดประตูสู่การรักษาที่ญี่ปุ่น

  ลิขสิทธิ์ภาพ @CY 2010

 นอกจากวัฒนธรรมที่สวยงาม อาหารอันลือชื่อก้องโลก รวมถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย ของญี่ปุ่น ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านการแพทย์ขั้นสูงของโลกคู่กับเพื่อนเก่าอย่างสหรัฐอเมริกาและหลากหลายประเทศ ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศที่ต่อเนื่องในการทำวิจัยและการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา รวมถึงความสามารถในการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาในการรักษาทำให้ญี่ปุ่น ก้าวเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์มาเป็นระยะเวลานาน เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเองก็เป็นที่หนึ่งในการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่เขาเป็นผู้พัฒนาขึ้นมานานนับหลายสิบปี

ในปี 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำการเปิดแคมเปญ Medical Excellence Japan (เว็บไซต์) ร่วมกับ Visa for Medical Stay (รายละเอียด) ขึ้น โดยมุ่งหวังจะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ต้องการรับการรักษาในประเทศญี่ปุ่นให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น ในค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ โดยมีบริการหลักๆดังนี้
  • บริการค้นหาแพทย์และโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น
  • บริการจัดแพคเกจเฉพาะบุคคลเพื่อการตรวจร่างกายและการรักษาขั้นสูง
  • บริการอำนวยความสะดวกในการขอ Visa for Medical Stay สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว 
  • บริการประสานงานการทำนัดกับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น
  • บริการประสานงานเป็นผู้แทนการจัดการค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นแทนผู้ป่วย
  • บริการจองที่พัก หอพัก และโรงแรม
  • บริการจองตั๋วเครื่องบิน รถและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
  • บริการล่าม ล่ามทางการแพทย์ และศูนย์บริการ 24 ชั่วโมง
  • บริการผู้แทนติดตามและรับส่งระหว่างสนามบิน โรงพยาบาล และที่พักอาศัย ในประเทศญี่ปุ่น
  • บริการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ และอื่นๆ
โดยปกติแล้ว ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความยากในการเข้าประเทศเนื่องจากการขอวีซ่าที่ผ่านได้ยากมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยจะเดินทางไปรักษาตัว ก็คงคิดหนักอยู่เหมือนกัน Visa for Medical Stay จึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างมาก เนื่องจาก วีซ่าประเภทนี้มีความพิเศษกว่าวีซ่าประเภทอื่นๆดังนี้
  • ผู้ป่วยสามารถพาครอบครัวหรือผู้ติดตามที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไปด้วยได้ ในวีซ่าเดียวกัน 
  • วีซ่ามีทั้งชนิด ครั้งเดียว (สูงสุด 90 วัน) และหลายครั้ง (สูงสุด 1-3ปี) (ขึ้นกับระยะเวลาการรักษา ณ โรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น)
  • เป็นวีซ่าที่ต้องใช้เอกสารแสดงตารางการรักษาและเอกสารร่วมแสดงการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบเอกสิทธิ์เท่านั้น 
โดยโครงการนี้น่าจะเป็นช่องทางพิเศษ สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการรับการรักษาขั้นสูงที่ยังไม่มีในไทย เช่นการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคบำบัด การรักษาโรคด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษาด้วยวิธีรักษาแนวใหม่ (Less invasive Treatment) และการผ่าตัดด้วยสายสวนเส้นเลือดฯลฯ โดยทางหน่วยงานที่ได้รับมอบเอกสิทธิ์เล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับผู้ป่วย แต่ยังจะเป็นประโยชน์กับแพทย์ทั้งในและนอกประเทศไทยด้วยที่จะสามารถบริหารจัดการแนวทางการรักษาที่หลากหลายได้เพิ่มขึ้น

ท่านที่สนใจก็เชิญติดต่อด้วยภาษาอังกฤษได้ ที่ ลิงค์ นี้ https://www.eaj.ne.jp/maj/en/inquiry